ประวัติความเป็นมาของบัลเล่ต์นั้น ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ตามวิวัฒนาการทางด้านการศึกษาและการแสดง
ยุคที่ 1 ยุคนี้เป็นยุคริเริ่ม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2494) เริ่มมีการเรียนบัลเลต์ในโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ใน พ.ศ. 2477 ตรงกับสมัยรัชการที่ 7 เป็นการสอนแบบอิสระโดยให้นักเรียนเต้นตาม การแสดงจะเป็นการเต้นประกอบเพลงในละครเพื่อคั่นสลับฉาก รูปแบบการนำเสนอของบัลเล่ต์เข้ามามีบทบาท กับการแสดงนาฏยศิลป์ไทยโดยเฉพาะในละครดึกดำบรรพ์
ยุคที่ 2 ยุคพัฒนาบัลเล่ต์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ถึง พ.ศ. 2509) บัลเล่ต์เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น เนื่องจากมีครูบัลเล่ต์อาชีพจากต่างประเทศจำนวน 4 คนเปิดสอนบัลเล่ต์ในกรุงเทพฯ การสอนยังเป็นแบบอิสระและมักเป็นการซ้อมเพื่อแสดง มีคนไทยจำนวน 4 คนจบการศึกษาบัลเล่ต์ขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ บัลเล่ต์เริ่มขยายไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ การแสดงเป็นบัลเล่ต์คลาสสิกและการผสมระหว่างนาฏยศิลป์ไทยกับบัลเล่ต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์บทเพลงเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์หลายชุด และทรงให้การสนับสนุนการแสดงบัลเล่ต์ จึงทำให้บัลเล่ต์เป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น
และในยุคที่ 3 ยุคมาตรฐานบัลเล่ต์คลาสสิก (ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2541) การเต้นบัลเล่ต์ได้พัฒนาจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของหลักสูตรการศึกษาของไทยในระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา และได้มีการแพร่ขยายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การสอนเปลี่ยนแปลงมาเป็นการใช้หลักสูตรสากลของประเทศอังกฤษ เป็นการวัดมาตรฐานบัลเล่ต์ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล การแสดงเป็นบัลเล่ต์คลาสสิก โดยมี 2 ลักษณะ คือ การแสดงงานโรงเรียนและการแสดงในเชิงพาณิชย์ ในประเทศไทยยังไม่มีคณะบัลเล่ต์อาชีพ และผู้สนับสนุนบัลเล่ต์อย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งควรมีการแต่งตำราเกี่ยวกับบัลเล่ต์เป็นภาษาไทย เพื่อให้นักเต้นได้รู้และเข้าใจการเต้นบัลเล่ต์ดียิ่งขึ้น และงานวิจัยฉบับนี้ควรนำไปสู่การวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาบัลเล่ต์ในประเทศไทยต่อไป